fix bar
fix bar
fix bar
fix bar
fix bar
fix bar

SLC Knowledge

ประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

  • 18 ก.พ. 2559
  • SLC
  • 197

คณะกรรมการจัดการความรู้ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อเรื่อง “ประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ในวันที่ 28 มกราคม 2559 เวลา 9.00 - 12.00 น. ณ สำนักหอสมุดและศูนย์การเรียนรู้ ชั้น 2 อาคารปิติบำเพ็ญ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์

อาจารย์ผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ มีจำนวนทั้งหมด 39 คน ประกอบด้วย อาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ จำนวน 19 คน คณะจิตวิทยา จำนวน 8 คน คณะกายภาพบำบัด จำนวน 9 คน สำนักวิชาการศึกษาทั่วไป 3 คน สาระสำคัญที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปได้ดังนี้

เทคนิคการสอนภาคทฤษฎี

การใช้คำถาม

1. การใช้เทคนิคการตั้งคำถาม รอคำตอบโดยให้เวลานักศึกษาได้คิด วิเคราะห์ กระตุ้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมทุกคน ให้กำลังใจนักศึกษาเมื่อตอบผิด และสร้างความมั่นใจให้นักศึกษา สร้างบรรยากาศการเรียนที่ไม่เครียด ในช่วงแรกทดลองใช้ยังได้รับผลไม่ค่อยดี แต่หลังจากนั้นเมื่อนักศึกษาเกิดความคุ้นเคยกับคำถามก็สามารถตอบคำถามได้ดี

2. ใช้วิธีการตั้งคำถาม โดยยังไม่เฉลยคำตอบ ให้นักศึกษาวิเคราะห์และแก้ปัญหาด้วยตนเอง นอกเหนือจากการบรรยาย ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง (เช่น การสัมภาษณ์) จัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับลักษณะนักศึกษาในชั้นเรียนเพราะนักศึกษามีวิธีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง

3. ใช้วิธีแบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มย่อย ให้เวียนถามคำถามกัน ให้นักศึกษาคิด วิเคราะห์ร่วมกันแต่ละขั้นตอน นำไปสู่กระบวนการตรวจร่างกาย ตรวจคนไข้ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุง

4. ใช้เทคนิคหลากหลายวิธี เช่น บรรยายรวมกับตั้งคำถาม ใช้เกมส์ร่วมด้วย ถ้าถามแล้วนักศึกษาไม่ตอบจะใช้วิธีสุ่มเลือกนักศึกษาตอบคำถาม เพื่อให้นักศึกษากระตือรือร้นหาคำตอบ มีการสรุปเนื้อหาให้แก่นักศึกษาก่อนปฏิบัติจริง

การใช้ Team Based Learning

1. ใช้เทคนิกการสอนแบบ Team Based Learning ให้เอกสารก่อนเรียนกับนักศึกษา ให้นักศึกษาได้อ่านก่อน มีการกระตุ้นให้นักศึกษาเรียนรู้จากเอกสารก่อนเรียน ให้ทำงานเป็นทีมมากขึ้นและการอภิปราย การบรรยายลดน้อยลง ใช้คำถามมากขึ้น ฝึกให้คิดวิเคราะห์ ใช้กรณีศึกษาจากผู้ป่วยจริง

2. หลังการอบรมได้สอนแบบ Team Based Learning โดยปรับสื่อการสอน Power point ให้น่าสนใจ กิจกรรมกลุ่ม Post test ให้คะแนน รางวัลกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจ นักศึกษามีความกระตือรือร้นมากขึ้น

การทดสอบย่อย

1. ใช้วิธีการสอบย่อยในห้องเรียนและเก็บคะแนน มีผลต่อการเข้าเรียนและความกระตือรือร้นของนักศึกษา ใช้สื่อจากเว็บไซต์ที่น่าสนใจ และมีความเข้าใจง่าย ตรงกับหัวข้อที่สอน อาจารย์ให้แหล่งข้อมูลให้นักศึกษาได้ค้นคว้า และศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Study)

2. ใช้การทำแบบทดสอบ Post test ทำเดี่ยว ทำกลุ่ม ผลัดกันตรวจ ลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนเมื่อเข้ากลุ่ม ให้นักศึกษาประเมินว่าเข้าใจเรื่องอะไรและไม่เข้าใจเรื่องอะไร ให้นักศึกษาคิดเกมส์เชื่อมโยงไปสู่วิชาชีพ

การใช้เทคนิคเพื่อนช่วยเพื่อน

1. มอบหมายกรณีศึกษาให้นักศึกษาไปอ่านก่อน และให้นักศึกษาเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ใช้ข้อสอบเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ โดยใช้ข้อสอบจากสภาการพยาบาล ให้นักศึกษาตอบคำถามและอธิบายคำตอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

2. ใช้เทคนิคการสอนแบบพี่สอนน้อง เข้าใจนักศึกษา กระตุ้นให้นักศึกษาตอบ ถูกผิดไม่เป็นไร ค้นคว้าเพิ่มเติมและอธิบายร่วมกัน อยากให้นักศึกษาตั้งคำถามที่ต้องการให้อาจารย์อธิบาย เพื่อที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ด้วย

3. มอบหมายกรณีศึกษาให้นักศึกษาไปอ่านก่อน และให้นักศึกษาเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ใช้ข้อสอบเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ โดยใช้ข้อสอบจากสภาการพยาบาล ให้นักศึกษาตอบคำถามและอธิบายคำตอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

4. ในรายวิชาที่มีความยาก เน้นการเรียนเป็นทีม เลือกหัวหน้ากลุ่มเป็นนักศึกษาที่เรียนเก่ง และให้จับสลากเลือกสมาชิกในกลุ่ม นักศึกษาที่เรียนเก่งในกลุ่มช่วยเหลือเพื่อนที่เรียนอ่อน ใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน อาจารย์จะตั้งคำถามโดยให้เรียนรู้ร่วมกันในกลุ่ม ผลที่ได้ คือ การเรียนของนักศึกษาก็ดีขึ้น

การใช้สื่อเร้าความสนใจ

1. ใช้วิธีการเตรียมเอกสารการสอนล่วงหน้าทุกบทเรียน จัดทำ Power point สื่อการสอนให้สวยงาม น่าสนใจ นักศึกษาก็จะให้ความสนใจ

2. จัดทำสื่อการสอนให้น่าสนใจ ใช้ Pointer เพื่อให้เห็นส่วนสำคัญของเนื้อหา การใช้สื่อวีดีโอที่สัมพันธ์กับบทเรียน จะมีการกลั่นกรองแหล่งที่มาของข้อมูล นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และมีอิสระทางความคิด ให้นักศึกษาคิดทำสื่อวีดีโอมานำเสนอด้วยตนเอง และมีรางวัลชมเชยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้สนใจการเรียน

3. เทคนิคที่ใช้โดยการให้ความรู้กับนักศึกษาก่อน ให้นักศึกษาผลิตสื่อวีดีโอ ความยาวไม่ต่ำกว่า 20 นาที ให้นักศึกษาสัมภาษณ์คนอื่นแล้วนำเสนอในชั้นเรียน เหมาะสำหรับนักศึกษาใน Generation Y กระตุ้นให้นักศึกษาอยากจะทำสื่อการเรียนและอยากเรียน

4. ในรายวิชาชุมชน การสอนในห้องเรียน ใช้ภาพกิจกรรมที่นักศึกษารุ่นพี่ทำไว้ใส่ใน Power point จำลองสถานการณ์ใช้วีดีโอให้นักศึกษาได้คิด วิเคราะห์ด้วยตนเองมากขึ้น นักศึกษาจะชื่นชอบ นอกจากนี้ มีการแบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มย่อยและจำลองสถานการณ์ เตรียมความพร้อมก่อนฝึกปฏิบัติงานในชุมชนทำให้นักศึกษาเรียนรู้ได้เร็วขึ้นและเข้าใจง่ายขึ้น นักศึกษาจะปฏิบัติได้เมื่อไปฝึกปฏิบัติจริง

5. สอนเนื้อหาทฤษฎีก่อนและใช้สื่อวีดีโอ ให้นักศึกษาสรุปภายหลังการสอนในแต่ละหัวข้อ ให้พูดซ้ำออกเสียง เพื่อให้จดจำได้ พบว่านักศึกษาจดจำได้มากขึ้น

อื่นๆ

1. ใช้เทคนิคการศึกษาภาคสนามแทนการบรรยาย โดยให้สัมพันธ์กับเนื้อหาในบทเรียน หาแหล่งการเรียนรู้นอกสถานที่ ให้นักศึกษาผลิตสื่อชิ้นงานและนักศึกษาชั้นปีอื่นร่วมฟังการนำเสนอด้วย มีการให้นักศึกษาเสนอแนะ เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม ผลตอบรับจากนักศึกษาดี นักศึกษามีความตั้งใจทำงานและสนุกกับการเรียน

2. ใช้หลากหลายวิธี (สื่อ วีดีโอ CAI, E-Book เกมส์ กรณีศึกษา) ทำแบบทดสอบโดยให้นักศึกษา 2 คนช่วยกัน ลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน และเฉลยคำตอบ ให้รางวัล ให้กำลังใจ สำหรับนักศึกษาปี 3 ใช้ Case Study และให้ทำงานกลุ่ม

3. เทคนิคการสอนของอาจารย์ที่พบว่าพื้นฐานของนักศึกษาไม่เท่ากัน มองใจเขาใจเรา เอาใจใส่นักศึกษามากขึ้น จึงใช้แบบสอบถาม Learning Style ประเมินนักศึกษาก่อนสอน ออกแบบการสอนให้ครบ สอดคล้องกัรบ Learning Style ของผู้เรียน มีการประเมินนักศึกษาเป็นระยะ ออกแบบสื่อการสอนให้คบทั้ง 4 ด้าน ใช้สื่อวีดีโอ ถาม feedback อยู่เรื่อยๆ

4. การใช้ Simulation โดยให้นักศึกษาเป็นผู้ Demonstrate ค้นหาข้อมูล ตั้งโจทย์/วางแผนการรักษาให้เสมือนจริง นำเสนอให้เพื่อนๆในชั้นเรียนฟัง และเพื่อนในชั้นเรียนให้ข้อเสนอแนะ โดยอาจารย์ให้เอกสารการสอนอ่านล่วงหน้า

5. รายวิชา ภาษาไทย ใช้การมอบหมายงานให้นักศึกษา นำเสนอและวิพากษ์ในกลุ่ม เน้นให้มีการพูด อ่าน และเขียน กระตุ้นให้นักศึกษาได้พูดทุกคน ใช้วีดีโอในเรื่องที่นักศึกษาสนใจเป็นสื่อการเรียนการสอน ฝึกให้นักศึกษาวิเคราะห์ เนื่องจากยังอ่อนในการวิเคราะห์ สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมให้นักศึกษา เน้นความตรงต่อเวลาและมีระเบียบวินัย ได้ผลลัพธ์ที่ดี

เทคนิคการสอนภาคปฏิบัติ

1. ประเมินรายบุคคลทุกขั้นตอน ตั้งคำถามให้ตรงประเด็น กล่าวชมเมื่อนักศึกษาตอบถูก เพื่อให้นักศึกษาเกิดความมั่นใจ ไม่เน้นเฉพาะนักศึกษาที่เรียนอ่อน

2. คำถามจากนักศึกษาที่พบบ่อยคือ นักศึกษาอยากรู้ว่าทำถูกต้องหรือไม่ จึงใช้การตั้งคำถามให้นักศึกษาได้คิด วิเคราะห์ และเรียนรู้ด้วยตนเอง ให้อิสระทางความคิด สร้างบรรยากาศการเรียนให้ผ่อนคลาย ไม่กดดัน ให้นักศึกษาประเมินการเรียนรู้ด้วยตนเองว่าได้หรือไม่ได้อย่างไรเพื่อให้นักศึกษามีการปรับปรุงตนเอง

3. มีการปฐมนิเทศ สรุปก่อนให้นักศึกษาปฏิบัติกับผู้ป่วยจริง ใจเย็นและไม่ดุนักศึกษา

4. นักศึกษาที่ได้รับ Case Study คล้ายกัน ให้นักศึกษาไปค้นคว้าหาข้อมูล นำมาหารือร่วมกัน และวิเคราะห์ให้แตกฉานมากขึ้น และ Conference รวมกันอีกครั้ง ให้นักศึกษาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละราย

5. ให้นักศึกษานำ Case Study ของตนเองมาค้นคว้าและวิเคราะห์ และให้ดู Case Study ของเพื่อนคนอื่น ให้นักศึกษาทำ Post test อาจารย์สรุปให้เพิ่มเติม ให้นักศึกษาทำประเมินการเรียนการสอนเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

6. หัตถการที่นักศึกษายังไม่เคยทำ เตรียมตัวนักศึกษาให้รู้ว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไรก่อนปฏิบัติจริง พานักศึกษาไปเรียนรู้จากของจริง ให้ recall กับอาจารย์ก่อน สร้างความมั่นใจให้นักศึกษา ไม่ให้ผู้ป่วยหรือนักศึกษารู้สึกว่าผิดปกติ

7. ให้นักศึกษาเรียนรู้จากผู้ป่วยโดยตรง เน้นหลักฐานจริงที่เกี่ยวกับผู้ป่วย เช่น ฟิล์ม ผลแล็ป การตั้งคำถามให้นักศึกษาคิด วิเคราะห์ และลงมือทำให้อาจารย์ดูว่าถูกต้องหรือไม่ ให้นักศึกษาสืบค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ถ้านักศึกษาหาคำตอบไม่ได้ อาจารย์ช่วยโดยหาแหล่งที่มาของข้อมูลให้

8. ใช้วิธีให้นักศึกษาสะท้อนตนเอง (Self-Reflective)จากที่เคยเรียนรู้มา ช่วยให้ประเมินนักศึกษาได้ชัดขึ้น ให้นักศึกษาเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ส่งอาจารย์ ให้ข้อเสนอแนะ กำลังใจ สร้างความมั่นใจในการปฏิบัติของนักศึกษา สอดแทรกความรู้ให้นักศึกษาไปพร้อมกัน

9. กระตุ้นให้นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และอภิปราย อาจารย์สรุปเพิ่มเติม ไม่กดดัน ให้เป็นลักษณะ Feedback และ Conference กล่าวชมนักศึกษาเมื่อทำได้ เน้นการตรงต่อเวลา

10. ใช้งานวิจัยมาประยุกต์การปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย โดยให้นักศึกษาปฏิบัติจริง ได้สัมภาษณ์จากผู้ป่วยจริง ให้นักศึกษาทำผังความคิดที่เป็น Holistic care นักศึกษามีความเข้าใจมากขึ้นและมีความภาคภูมิใจในผลงาน

สรุป

เทคนิคการสอนของอาจารย์ มีหลากหลายวิธี การสอนของอาจารย์ในแต่ละรายวิชา อาจารย์ทุกท่านใช้หลายวิธีร่วมกัน เพียงแต่จะมีความเด่นในการใช้เทคนิคใดที่อาจารย์พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมกับธรรมชาติของผู้เรียน เหมาะสมกับเนื้อหาสาระของรายวิชาและทักษะที่ต้องการให้เกิดกับนักศึกษา

Comment

Comments

  • image

    รัชณีย์ ป้อมทอง

    21/04/2559 10:00

    การอบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล วิชาเทคนิดการช่วยเหลือผู้ใช้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ได้มีการสอนภาคทฤษฎี สาธิต จากนั้นอาจารย์ได้มอบแผ่นCD ซึ่งรุ่นพี่ได้ถ่ายทำไว้ให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง เช่นการวัดสัญญาณชีพ การให้อาหารทางสายยาง ฯลฯ ผลการสอบภาคปฏิบัติทำได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้แจกสื่อการเรียนรู้ค่ะ รัชณีย์

  • image

    สรายุธ มงคล

    02/05/2559 14:43

    การจัดการเรียนการสอน ควรเลือกใช้เทคนิคที่เหมาะสมกับนักศึกษามีความทันสมัย ตามทันนักศึกษาในปัจจุบัน เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ค้นคว้าในห้องเรียนผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งนักศึกษาจะให้ความร้วมมือมากและกระตือรือร้นมากกว่าการสอน lecture เพียงอย่างเดียว

  • image

    จินตนา อาจสันเที๊ยะ

    21/02/2563 14:21

    การเรียนรู้ด้วยการตั้งคำถามให้ผู้เรียนคิดและหาคำตอบนี้ดีมาก ในการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เป็นActive learner ค่ะ

กรุณาทำการ LOG IN เข้าสู่ระบบก่อน ถึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้

ใช้ User ระบบลาออนไลน์ ในการ Login เข้าระบบ.