fix bar
fix bar
fix bar
fix bar
fix bar
fix bar

SLC Knowledge

การจัดการความรู้ คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์

  • 21 ก.ย. 2560
  • Admin
  • คณะกายภาพบำบัด
  • 289

การจัดการความรู้ คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์

     คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เป็นคณะที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อปีการศึกษา 2551 จนถึงบัดนี้ คณะมีอายุเกือบ 10 ขวบ ในระหว่างขวบปีที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คณะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยมีเป้าประสงค์เพื่อการพัฒนาทั้งองค์กร บุคคลากร องค์ความรู้ ที่สำคัญคือการสร้างทรัพยากรบุคคลด้านสาธารณสุข “นักกายภาพบำบัด”                        การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา   การเข้าออก การลาศึกษาของอาจารย์ การเพิ่มจำนวนบุคลากรสายสนับสนุน การมีนักศึกษาใหม่เข้าสู่คณะ และการเลื่อนชั้นปีที่สูงขึ้นของนักศึกษาที่มาพร้อมกับการพัฒนาเชิงความคิด การกระทำ และจิตใจของนักศึกษา สถานการณ์ที่พลวัตเหล่านี้ทำให้อาจารย์และบุคลากรทุกคนในคณะต้องเรียนรู้ ปรับตัว หากลยุทธ์ ยุทธวิธี เพื่อการเป็นครูที่ดีทั้งด้านความรู้ การกระทำ และมโนธรรม ที่จะให้กับนักศึกษาที่มาจากต่างครอบครัว ต่างความคิด ต่างความเชื่อ ต่างทัศนคติ ต่างกันแม้กระทั่งต้นทุนทางการศึกษา

     เพื่อให้การจัดการเรียนการสอน การปลูกจิตสำนึกทางสังคม การสร้างความเป็นคนดีให้กับนักศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ คณะจึงหาวิธีการพัฒนาทักษะอาจารย์ที่สามารถดำเนินภายใต้สถานการณ์ที่คณะต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยการสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีการหนึ่งที่คณะนำมาเป็นหนทางที่ทุกคนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันในทุกด้านคือ การซ้อมปฏิบัติการก่อนการจัดการเรียนการสอน โดยหวังให้เป็นหนทางหนึ่งที่จะถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ การแลกเปลี่ยนทักษะการสอนและทักษะทางวิชาชีพ การแลกเปลี่ยนด้านมโนธรรมจิตสำนึกต่างๆที่ไม่ง่ายต่อการจะนำมาพูดคุยในชีวิตปกติหากไม่มีสถานการณ์เป็นต้นเรื่อง โดยคาดหวังที่จะให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ องค์ความรู้ ความคิด ทักษะ ที่อยู่ในตัวบุคคลแต่ละคน ซึ่งหาได้ยากจากที่อื่นๆ

     ประเด็นหลักในช่วงต้น คณะเลือกที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านองค์ความรู้ และเทคนิคด้านการถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษา ในหัวข้อการเรียนรู้จากการซ้อมปฏิบัติการและการนำเสนอการสอนของอาจารย์ก่อนการสอน โดยมีการจัดการความรู้ผ่านกระบวนการ การบ่งชี้ความรู้ การสร้างและแสวงหาความรู้ การจัดความรู้ให้เป็นระบบ การเข้าถึงความรู้ การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ และการเรียนรู้  ซึ่งจัดให้อาจารย์ทุกท่านได้ทบทวนหรือการถอดบทเรียนจากการซ้อมปฏิบัติการและการนำเสนอการสอนของอาจารย์ก่อนการสอน และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มสาขา ได้แก่ ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และระบบหายใจและไหลเวียนเลือด รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในคณะ เพื่อสร้างและแสวงหาความรู้และการจัดความรู้ให้เป็นระบบ นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่และแบ่งปันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อให้อาจารย์เข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายและสะดวกด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโดยผ่าน website ของวิทยาลัย

บทเรียนการเรียนรู้จากการซ้อมปฏิบัติการและการนำเสนอการสอนของอาจารย์ก่อนการสอน

โดยอาจารย์แต่ละท่าน

     การซ้อมปฏิบัติการในภาคปฏิบัติทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้และเนื้อหาที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน ความรู้ที่อาจารย์แต่ละสถาบันจบมาอาจมีการมุ่งเน้นประเด็นที่แตกต่างหรือมีมุมมองการประยุกต์ความรู้ที่แตกต่างกัน แต่ เมื่อมามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนและร่วมกันวิเคราะห์ ทำให้เห็นแก่นของความรู้ในความหลากหลาย เกิดการตกผลึกถึงประเด็นเรียนรู้จากความหลากหลาย แต่มีแนวคิดหลักการที่เป็นแก่นของความรู้แต่ละเรื่อง ซึ่งทำให้ทุกคนมีฐานคิดบนแก่นสาระ แต่มีความหลากหลายต่อการอธิบาย การนำไปประยุกต์ ซึ่งส่งผลให้ทุกคนได้เรียนรู้ว่าตนเองต้องปรับวิธีการสอนอย่างไรเพื่อถ่ายทอดแก่นสารนั้นให้ได้ การนำสู่สาระการเรียนรู้บนแก่นของความรู้ทำให้ตนเองสัมผัสได้ว่า ทุกคนมีจริตที่แตกต่างกันใน การค้นคว้า การจับประเด็น การคิดวิเคราะห์ และการนำเสนอต่อนักศึกษา ซึ่งขึ้นกับประสบการณ์การสอน ประสบการณ์การประยุกต์กับผู้ป่วย และสถานการณ์สุขภาพที่ตนเองไปพบ ดังนั้นการซ้อมปฏิบัติการทำให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอน การประยุกต์ และประเด็นปัญหาการเรียนรู้ที่อาจมีการตั้งคำถามทำให้อาจารย์ผู้นำทีมสามารถกลับไปเตรียมตนเอง เตรียมความรู้ และปรับแต่งความคิดของตนเอง

     นอกจากนี้การซ้อมปฏิบัติการหรือซ้อมสอนยังทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบการสอนอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากเมื่อเรานำเสนอในกลุ่ม หากมีอาจารย์ตั้งคำถามที่สงสัย ทำให้เราต้องพยายามหาวิธีการถ่ายทอดที่ชัดเจนเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เช่นการแสดงท่าทาง การหาสิ่งประดิษฐ์ที่จะทำให้นักศึกษาเห็นเป็นรูปธรรม การซ้อมปฏิบัติการไม่ใช่การแลกเปลี่ยนด้านองค์ความรู้อย่างเดียว แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเชิงทักษะ ซึ่งบางครั้งวิธีหนึ่งๆอาจจะเหมาะกับโครงสร้างนักกายภาพบำบัดบางคน แต่บางคนอาจไม่เหมาะ ซึ่งเป็นประเด็นความหลกหลายของนักศึกษาที่เราอาจจะลืมคำนึงถึง เนื่องจากมุ่งเน้นแต่หลักการที่เราได้เรียนมาหรือประสบการณ์เราเท่านั้น แต่เมื่อได้พูดคุยและซ้อมทักษะ ทำให้อาจารย์เปิดใจกว้างต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาและศักยภาพของนักศึกษาทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงทักษะ จึงเกิดการปรับเปลี่ยนหรือแลกเปลี่ยนเทคนิคกันมากขึ้นโดยยังตั้งอยู่บนหลักการทางกายภาพบำบัดที่ถูกต้อง

 

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน

ผศ.ดร.ผกาวลี พุ่มสุทัศน์

 


 

  • ทำให้ได้มีการเตรียมตัวและทบทวนความรู้ร่วมกันของอาจารย์ผู้สอนให้เกิดแนวทางการสอนไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อทำการสอนจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ที่อาจารย์แต่ละคนสอนไปคนละแนวทางกัน
  • เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคระหว่างอาจารย์ด้วยกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นเทคนิคเหมือนกันแต่ในแต่ละสถาบันที่จบมาก็จะมีรูปแบบการสอนที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนไปในทางเดียวกันได้ดีขึ้น
  • บางครั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่อาจารย์แต่ละคนไปรักษาในสถานการณ์จริงทำให้ อาจารย์ที่เป็นผู้สอนหลักสามารถนำตัวอย่างไปเล่าให้กับนักศึกษาได้
  • ทำให้อาจารย์ผู้สอนได้มีการเตรียมตัวในการสอน เพื่อที่จะได้มาสอนอาจารย์ผู้ร่วมสอนก่อน เพื่อที่จะได้ดูว่าลำดับการสอนนั้นเข้าใจยากง่ายเพียงใด ซึ่งสามารถนำข้อเสนอแนะของอาจารย์ผู้ร่วมสอนไปปรับเนื้อหาได้อีกทางหนึ่ง
  • เมื่อมีการซ้อมซ้อมปฏิบัติการ ก็จะทำให้อาจารย์ผู้ร่วมสอนในหัดใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดให้เกิดความชำนาญด้วย เพราะเครื่องมือบางอย่างอาจารย์ที่เป็นผู้สอนหลักอาจจะชำนาญเพียงผู้เดียว ซึ่งเวลาที่จะต้องไปสอนนักศึกษาจะได้สามารถอธิบายให้นักศึกษาได้
  • ทั้งนี้การซ้อมปฏิบัติการบางครั้ง ต้องหาเวลาที่อาจารย์ผู้สอนทั้งหมดมีเวลาว่างตรงกัน ซึ่งยังเป็นประเด็นเล็กน้อยที่อาจจะต้องหาแนวทางหรือจัดหาเวลาที่ทำให้อาจารย์ผู้ร่วมสอนทุกคนไม่ต้องอยู่ซ้อมปฏิบัติการในช่วงเย็นและในบางหัวข้อที่เป็นหัวข้อเดิมและผู้สอนชุดเดิมอาจจะเป็นเพียงการทบทวนไม่ต้องซ้อมแบบเต็มรูปแบบ

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน

ผศ.สรายุธ  มงคล


 การซ้อมปฏิบัติการก่อนการสอน

  • ทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจการเนื้อหาที่จะสอนร่วมกันในอาจารย์ทุกท่าน ซึ่งจะทำให้มีการแนะนำ ชี้แนะนักศึกษาไปในทิศทางเดียวกัน
  • ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์ความรู้ที่เกิดจากความรู้ของอาจารย์แต่ละท่าน ซึ่งจะเป็นการ update ความรู้ให้ทันสมัย อาจเป็นความรู้ที่มีการประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยซึ่งได้รับผลที่ดีมาแล้ว
  • มีการนำประสบการณ์ เทคนิคการตรวจร่างกายและการรักษามาถ่ายทอด ทำให้อาจารย์มีความรู้ที่หลากหลาย และมีตัวอย่างให้นักศึกษาสามารถเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น
  • ทำให้เกิดการร่วมคิดร่วมทำ และนำเสนอวิธีการสอน อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา

การนำเสนอการสอนของอาจารย์ก่อนการสอน

  • เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อดูเนื้อหาการสอน รายละเอียด ว่าครอบคลุมกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ เพราะบางหัวข้ออาจเป็นหัวข้อที่ได้รับการสอนในครั้งแรกหรือช่วงแรกที่ยังต้องได้ปรับการปรับและแก้ไขเพิ่มเติม
  • ทำให้เกิดข้อเสนอและการนำแนวทางการสอน วิธีการสอน หรืออุปกรณ์/สื่อช่วยในการเสริมสร้างความเข้าใจในการสอนได้ รวมถึงบุคลิกภาพ การสื่อสารและการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน

อาจารย์ กรกมล เจียวท่าไม้และอาจารย์วณิชชา คูวิบูลย์ศิลป์


 

  • เป้าหมายหลักในการสอน: โดยผู้สอนหลักซ้อมสอนและอธิบายปฏิบัติการที่จะเข้าสอนร่วมกันกับผู้เข้าร่วมสอนท่านอื่นๆ ทำให้เกิดความเข้าใจในประเด็นและทิศทางของหัวข้อนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้นักศึกษาได้รับความรู้เหมือนๆกัน
  • การสื่อสาร: ในขณะซ้อมสอนของผู้สอนหลักและผู้ร่วมสอนจะมีการแสดงความคิดเห็นกันในประเด็นที่คลุมเครือ ทำให้เมื่อสอนจริง สามารถสื่อสารได้ชัดเจน ไม่กำกวม หรือคลุมเครือ
  • การซ้อมอุปกรณ์จริง: ทำให้ผู้สอนหลักและผู้ร่วมสอนได้ซ้อมอุปกรณ์ที่จะใช้สอนจริง ซึ่งจะมีประโยชน์ในเรื่องของ การตรวจสอบอุปกรณ์และเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ก่อนใช้สอนจริง อีกทั้งผู้ร่วมสอนยังได้ฝึกใช้อุปกรณ์ เพราะผู้ร่วมสอนอาจไม่ค่อยได้ใช้อุปกรณ์
  • เพิ่มความมั่นใจให้ผู้สอน: การซ้อมสอนจะมีประเด็นที่ผู้ร่วมสอนอาจมีประสบการณ์มากกว่า ก็จะนำความรู้มาแชร์กัน ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้สอนหลักและผู้ร่วมสอน
  • วิธีการและเทคนิคการถ่ายทอด: การซ้อมสอนจะมีประเด็นวิธีการทำปฏิบัติการแตกต่างกันตามเทคนิคของแต่ละบุคคล ก็จะนำเทคนิคมาแชร์กัน แล้วสรุปเป็นเทคนิคในทิศทางเดียวกัน โดยยึดเทคนิคที่เป็นพื้นฐานของปฏิบัติการนั้นๆ ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้สอนหลักและผู้ร่วมสอน
  • การควบคุมเวลา: การซ้อมสอนก่อน จะทำให้สามารถควบคุมเวลาการทำปฏิบัติการ และเสร็จตามกำหนดเวลา
  • การได้รับความรู้ใหม่: การซ้อมสอนทำให้ผู้ร่วมสอนได้รับความรู้หรือเทคนิคใหม่ๆจากผู้สอนหลัก เกิดเป็นความรู้ที่ได้จากการเข้าซ้อมปฏิบัติการ

ดังนั้น การซ้อมสอนนอกจากจะได้ความรู้ ความเข้าใจ ในการซ้อมปฏิบัติการนั้นๆแก่ผู้สอนหลัก และผู้ร่วมสอนแล้ว ประโยชน์สูงสุดจะเกิดกับตัวนักศึกษาที่จะได้รับความรู้ วิธีการ เทคนิคการปฏิบัติที่ถูกต้อง จากอาจารย์ทีลงสอนปฏิบัติการไปในทิศทางเดียวกัน

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน

อาจารย์ทิชพร สุขเกื้อ


 

  • ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
  • ได้อัพเดตสิ่งใหม่ หรือคิดวิเคราะห์ส่วนของเนื้อหาในมุมมองใหม่
  • ได้เติมเต็มในส่วนที่ขาดไปของเนื้อหา
  • ช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น มั่นใจมากขึ้น
  • กรณีที่เป็นอาจารย์ใหม่ ทำให้ได้เรียนรู้การเรียนการสอนของคณะ และมีโอกาสซักถามอาจารย์ที่ร่วมสอน หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ร่วมสอน ทำให้ระยะเวลาในการเตรียมสอนไม่ล่าช้ามาก ไม่มีความกังวล

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน

อาจารย์ จินตนา   บุตรกันหา


 

  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ที่ทันสมัย
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สอนและประสบการณ์ทางคลินิก
  • ทำให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้นศ.เกิดความสับสน
  • เป็นการทดลองใช้และตรวจสอบสภาพของเครื่องมือ
  • ทำให้เกิดการประยุกต์เทคนิคการจัดการทางกายภาพบำบัด เพื่อให้ได้ความรู้ที่ทันสมัยและหลากหลาย สามารถประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์ต่างๆอย่างเหมาะสม
  • ทำให้เกิดเทคนิคการสอนหรือสื่อประกอบการสอน เพื่อ ทำให้นศ.เกิดกระบวนการเรียนรู้และเข้าใจในเนื้อหาได้ง่าย

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน

อาจารย์ดร.อุษา ครุครรชิต


 

  • ทำให้มีการเตรียมเนื้อหาในการสอน และมีการทบทวนบทเรียนมาก่อนล่วงหน้า
  • ทำให้ได้ทดลองซ้อมสอน ทั้งเนื้อหาและปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และให้ผู้ร่วมสอนช่วยกันให้ข้อเสนอแนะเรื่องการใช้คำให้เข้าใจง่าย การเรียงลำดับเนื้อหา การยกตัวอย่างให้นักศึกษาเห็นภาพมากขึ้น
  • เป็นการฝึกซ้อมและทบทวนเยื้อหาหรือปฏิบัติการที่เรียนมานานแล้ว อาจต้องมีการทำความเข้าใจหรืออัพเดตความรู้และเทคนิคใหม่ๆ
  • ได้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานจากที่ต่างๆ เนื่องจากอาจารย์แต่ละท่านอาจมีการทำงานหรือปฏิบัติประสบการณ์ในที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งรายละเอียดหรือเทคนิคการรักษาบางอย่าง และระบบโรงพยาบาลแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้เราสอนได้ครอบคลุม ไม่ว่า นศ จะไปฝึกงานหรือทำงานใน รพ ใด จะสามารถเข้ากับระบบ หรือวิธีการรักษาของ รพ นั้นๆได้

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน

 อาจารย์ดวงฤดี  สุวิวัฒนศิริกุล


 

  • ได้อัพเดทความรู้ที่ทันสมัย
  • ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ร่วมสอน
  • ได้เพิ่มพูนทักษะด้านต่างๆที่ตนเองไม่ชำนาญ
  • ได้วางแผนการแก้ปัญหาล่วงหน้าร่วมกับทีม
  • ได้ฝึกการทำงานเป็นทีม

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน

 อาจารย์เขมภัค  เจริญสุขศิริ 


      

การซ้อมปฏิบัติการก่อนการเรียนการสอนภาคปฏิบัตินั้นทำให้มีการทบทวนความรู้ทางเทคนิคทางกายภาพบำบัดในแต่ละหัวข้อซึ่งรวมทั้งการเรียนรู้องค์ความรู้ที่ทันสมัยเพิ่มเติม รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ นอกจากนี้ในการซ้อมปฏิบัติการทำให้เกิดการอภิปรายร่วมกันในกลุ่มผู้สอน ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดการปรับปรุงเทคนิคทั้งเทคนิคการเรียนการสอน และเทคนิคในการรักษาคนไข้

                ในการซ้อมปฏิบัติการยังเป็นการช่วยให้เกิดการซ้อมสอนก่อนการสอนนักศึกษา ซึ่งในการสอนปฏิบัติการใช้เทคนิคการสอนที่แตกต่างการสอนทฤษฎี ดังนั้นจึงทำให้อาจารย์ที่เป็นผู้สอนหลักในการเรียนปฏิบัติได้ปรับปรุงวิธีการสอน เทคนิคการอธิบาย การถ่ายทอดต่างๆ

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน

 อาจารย์สิริญญา  วิริยโรจนกุล


 

  • ได้อัพเดทความรู้ที่ทันสมัย
  • ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเพิ่มพูนทักษะด้านต่าง ๆ ที่ตนเองไม่ชำนาญ
  • ได้ทบทวนความรู้และเทคนิคต่าง ๆ
  • ได้วางแผนการแก้ปัญหาล่วงหน้าร่วมกับทีม
  • ได้ฝึกการทำงานเป็นทีม

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน         

อาจารย์กันยารัตน์ บำรุงสุข


 

การซ้อมปฏิบัติการ

  • เป็นการเตรียมพร้อมของอาจารย์ผู้สอนและผู้ร่วมสอน เพื่อให้สอดคล้องกันกับภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
  • เป็นการสื่อสารให้เข้าใจตรงกันทั้งอาจารย์ผู้สอนและผู้ร่วมสอนก่อนถ่ายทอดให้กับนักศึกษา เพื่อสอนและแนะนำไปแนวทางเดียวกัน
  • เป็นการแชร์ความเห็น เทคนิค รวมถึงประสบการณ์ทางคลินิกของคณาจารย์ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรายวิชา เพื่อนำมาปรับใช้กับการสอน ทั้งนี้ยังเป็นการได้รับข้อมูล และเทคนิคใหม่ทันสมัยจากอาจารย์ที่ไปอบรมเพิ่มเติม หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ
  • เป็นการเตรียมความพร้อม ตรวจเช็คเครื่องมือ และฝึกการใช้เครื่องมือก่อนการสอน

การนำเสนอการสอนก่อนการสอน

  • ได้รับข้อแนะนำจากคณาจารย์ผู้มีประสบการณ์การสอนและมีความเชี่ยวชาญ เพื่อนำมาปรับปรุงเนื้อหา เทคนิคการถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัย
  • เป็นการซักซ้อม เนื้อหาความรู้ให้ถูกต้อง และครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา รวมถึงเทคนิคการถ่ายทอดเนื้อหาให้มีความต่อเนื่อง การอธิบายและยกตัวอย่างในสิ่งยากให้ง่ายต่อความเข้าใจของนักศึกษา
  • เป็นการแชร์ความรู้ของอาจาย์ผู้สอนและผู้ร่วมสอน รวมถึงเตรียมหรือปรับเนื้อหาให้สอดคล้องในหัวข้อต่อๆ ไปที่เกี่ยวข้อง

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน         

อาจารย์สุกัญญา กรีอินทอง


 

  • ได้ทบทวนและอัพเดทเนื้อหา ทั้งในทางทฤษฎี และทางคลินิก หรือจากความรู้ที่ได้ไปอบรมเพิ่มเติม ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะสอน ให้ไปในทิศทางเดียวกัน
  • เข้าใจและซักซ้อมกระบวนการการเรียนการสอน และข้อตกลงร่วมกัน รวมถึงข้อคำถามต่างๆระหว่างอาจารย์ผู้สอนหลัก และ อ.ผู้ร่วมสอนก่อนชั่วโมงสอนจริง
  • ถ้าในหัวข้อใดมีการใช้อุปกรณ์ ก็จะได้เป็นการตรวจเช็ค และลองฝึกใช้
  • ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของอ.แต่ละท่าน และอาจเป็นการระดมความคิดช่วยกันคิดตัวอย่างเคส มาประกอบการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาได้รับประโยชน์มากที่สุด
  • เป็นการช่วยตรวจทานให้เนื้อหาครบตามวัตถุประสงค์ของรายวิชานั้นๆ
  • เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ อ.ผู้สอน

ผู้ถ่ายทอดบทเรียน

อาจารย์จิตราพร ศรีบุญเพ็ง

 


 

บทเรียนการเรียนรู้จากการซ้อมปฏิบัติการและการนำเสนอการสอนของอาจารย์ก่อนการสอน

 

ในกลุ่มสาขาวิชาระบบหายใจและไหลเวียนเลือด

  1. ด้านการเพิ่มความรู้ทางวิชาการ
    • ทบทวนและ update ความรู้ของผู้สอนและผู้ร่วมสอนอยู่เสมอ และให้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันการสอนไม่ตรงกันทำให้ นศ สับสน
    • ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทาง clinic เนื่องจากอาจารย์แต่ละท่านมีทักษะ ความชำนาญ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน การซ้อม lab จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนเทคนิคต่างๆ
    • ฝึก manual skill ให้มีความชำนาญ ได้มีโอกาสฝึกทักษะหรือหัตถการที่ยังไม่คล่องหรืออาจไม่ได้ใช้บ่อย และได้มีผู้ร่วมสอนท่านอื่นๆช่วยดูและเสนอความเห็น
    • ควบคุมผู้สอนให้สอนครบตามวัตถุประสงค์ในรายวิชานั้นๆ เพื่อให้นักศึกษาได้องค์ความรู้ที่ครบถ้วนตามที่หลักสูตรกำหนด
  2. ด้านการแลกเปลี่ยนเทคนิคการสอน
    • เรียนรู้เทคนิคการสอน ทั้งภาคบรรยายและภาคปฏิบัติ ของอาจารย์ท่านอื่น แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง
    • เป็นการซ้อมสอน ซ้อมอธิบายขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้มีความมั่นใจในการสอน และเรียงลำดับขั้นตอนให้เข้าใจง่าย และอาจมีการแลกเปลี่ยนวิธีการอธิบายหรือถ่ายทอดเนื้อหาหรือขั้นตอนต่างๆ
    • เป็นการทดลองใช้เครื่องมือ เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องมือ หากมีความบกพร่องจะได้ดำเนินการแก้ไข และยังเป็นการฝึกซ้อมเพื่อความชำนาญของผู้สอน
    • ได้ประเด็นคำถามจากผู้ร่วมสอน เพื่อนำไปปรับใช้ หรือเพิ่มเติมในชั่วโมงสอนจริง หรือยกตัวอย่าง case study เพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพชัดเจนและเข้าใจง่าย

 

บทเรียนการเรียนรู้จากการซ้อมปฏิบัติการและการนำเสนอการสอนของอาจารย์ก่อนการสอน

ในกลุ่มสาขาวิชาระบบประสาท

1   ความรู้ด้านวิชาการ

1)  ทีมอาจารย์ผู้สอนได้ทบทวนความรู้ และฝึกทักษะ

2)   Update ความรู้และเทคนิคการรักษาแบบใหม่

3)  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล และประสบการณ์ในการ สอนปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ นศ.

4)  เพิ่มทักษะและความชำนาญในการใช้เครื่องมือ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า orthoses prosthesis เครื่องช่วยเดินแบบต่างๆ เป็นต้น

5)  เพิ่มทักษะ และความชำนาญในการใช้เทคนิคเฉพาะ เช่น PNF, Bobath ฯลฯ

6)  ได้ความรู้และได้ฝึกทักษะกับผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆที่เป็นอ.ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบหลักในการสอนปฏิบัติการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอ.ผู้สอนภายนอกคณะ

7) เรียนรู้การประยุกต์ และบูรณาการเทคนิคต่างๆเพื่อให้เหมาะกับคนไข้ โดยอาศัย ประสบการณ์จากอาจารย์ภายในทีมผู้สอน เช่น การประยุกต์ใช้เทคนิคทางระบบประสาทต่างๆเพื่อฝึกคนไข้ทางระบบประสาท เช่นการประยุกต์ใช้ TENS เพื่อเป็น FES เป็นต้น

2   เทคนิคการสอน

  • เป็นการปรับเทคนิคการสอนเพื่อให้นศ.เข้าใจได้มากขึ้น โดยใช้คำแนะนำจากอ.ในทีม
  • ปรับแนวทางการสอนของอ.ให้เป็นในแนวทางเดียวกัน
  • เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นในการเรียนปฏิบัติการ
  • เป็นการซ้อมสอนของอาจารย์ในทีมผู้สอน ทั้ง เป็นอ.ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบหลักในการสอน และ ผู้ร่วมสอน

 

บทเรียนการเรียนรู้จากการซ้อมปฏิบัติการและการนำเสนอการสอนของอาจารย์ก่อนการสอน

ในกลุ่มสาขาระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

  1. กลุ่มสาขา

ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์ความรู้ที่เกิดจากความรู้ของอาจารย์แต่ละท่าน ทำให้สร้างเทคนิคการเรียนการสอนวิธีใหม่หรือเทคนิคที่หลากหลาย เพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาได้อย่างเหมาะสม และเพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นเช่น การยกตัวอย่างจากสถานการณ์จริง กรณีศึกษา บทบาทสมมุติ รูปภาพ หรือสื่อการสอน

  1. ผู้เรียน

ได้รับเนื้อหาจากอาจารย์ทุกท่าน ซึ่งไปในทิศทางเดียวกันและมีเนื้อหาในรายวิชาครบถ้วนและครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา ทำให้เกิดความเข้าใจและนศ.ไม่เกิดความสับสน

  1. ผู้ร่วมสอน

ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์ความรู้ที่เกิดจากความรู้ของอาจารย์แต่ละท่าน ซึ่งจะเป็นการ update ความรู้ให้ทันสมัย  เกิดความเข้าใจในเนื้อหาซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้นศ.ไม่เกิดความสับสน

เกิดการฝึกหรือทบทวนทักษะการจัดการทางกายภาพบำบัด โดยเฉพาะทักษะทางหัตถการ

ช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่นและผู้สอนเกิดความมั่นใจในการสอนมากขึ้น

  1. ผู้สอน

เกิดการสร้างความเข้าใจหรือแม่นยำในเนื้อหา ซึ่งจะทำให้มีเนื้อหาในรายวิชาครบถ้วนและครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสงการณ์สอน ทำให้เกิดแนวทางการสอน วิธีการสอน หรืออุปกรณ์/สื่อการสอน ช่วยในการเสริมสร้างความเข้าใจในการสอนได้

เกิดการฝึกหรือทบทวนทักษะการจัดการทางกายภาพบำบัด โดยเฉพาะทักษะทางหัตถการ

ช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่นและผู้สอนเกิดความมั่นใจในการสอนมากขึ้น

บทเรียนการเรียนรู้จากการซ้อมปฏิบัติการและการนำเสนอการสอนของอาจารย์ก่อนการสอน

  1. 1. ด้านความรู้ทางวิชาการ

1.1 แลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้และเนื้อหาที่ทันสมัยของผู้สอนและผู้ร่วมสอน  และทำให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน

1.2 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สอนและประสบการณ์ทางคลินิก เนื่องจากอาจารย์แต่ละท่านมีทักษะ ความชำนาญ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน

1.3 ทบทวนทักษะด้านการตรวจ วินิจฉัย รักษา โดยเฉพาะทักษะด้านหัตถบำบัดหรือหัตการ

1.4 อาจารย์สำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่หลากหลาย ความรู้อาจมีการมุ่งเน้นประเด็นที่แตกต่างหรือมีมุมมองการประยุกต์ความรู้ที่แตกต่างกัน เมื่อมามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันวิเคราะห์ ทำให้เกิดการตกผลึกประเด็นเรียนรู้  เพื่อให้ทุกคนนำไปประยุกต์ ซึ่งส่งผลให้ทุกคนได้เรียนรู้ว่าตนเองต้องปรับวิธีการสอนอย่างไรเพื่อถ่ายทอดแก่นสารนั้น 

1.5 เรียนรู้การประยุกต์และบูรณาการเทคนิคต่างๆเพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วย ซึ่งเกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างอาจารย์

  1. 2. ด้านเทคนิคการสอน

2.1 เรียนรู้เทคนิคการสอน ทั้งภาคบรรยายและภาคปฏิบัติ แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง

2.2 เป็นการซ้อมสอน เพื่อให้มีความมั่นใจในการสอน และเรียงลำดับขั้นตอนให้เข้าใจง่าย และอาจมีการแลกเปลี่ยนวิธีการอธิบายหรือถ่ายทอดเนื้อหาหรือขั้นตอนต่างๆ

2.3 เป็นการทดลองใช้และตรวจสอบสภาพของเครื่องมือ หากมีความบกพร่องจะได้ดำเนินการแก้ไข และยังเป็นการทบทวนการใช้เครื่องมือ

2.4 หากมีอาจารย์ตั้งคำถามที่สงสัย ทำให้ต้องพยายามหาวิธีการถ่ายทอดที่ชัดเจนเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เช่นการแสดงท่าทาง การยกตัวอย่าง การหาสิ่งประดิษฐ์ที่จะทำให้นักศึกษาเห็นเป็นรูปธรรม เพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพชัดเจนและเข้าใจง่าย

2.5 มีการใช้กรณีศึกษา มาประกอบการเรียนการสอน จะเป็นการระดมความคิดเพื่อให้นักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถการประยุกต์ใช้

2.6 ทบทวนให้เนื้อหาของผู้สอนครบตามวัตถุประสงค์ของรายวิชา เพื่อให้นักศึกษาได้องค์ความรู้ที่ครบถ้วนตามที่หลักสูตรกำหนด

2.7 การแลกเปลี่ยนเชิงทักษะ ซึ่งบางครั้งวิธีหนึ่งๆอาจจะเหมาะกับโครงสร้างนักกายภาพบำบัดบางคน แต่บางคนอาจไม่เหมาะ หรือมีความหลากหลายของศักยภาพของนักศึกษาทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงทักษะ จึงเกิดการปรับเปลี่ยนหรือแลกเปลี่ยนเทคนิคกันมากขึ้น

แนวทางในการซ้อมสอนปฏิบัติการ

  1. 1. มีขอบเขตของเนื้อหาขัดเจนตามแผนการสอน
  2. 2. มีการซ้อมปฏิบัติที่ต้องใช้เครื่องมือ ควรมีการตรวจสอบสภาพของเครื่องมือให้พร้อมใช้งาน ก่อนการซ้อมปฏิบัติการ
  3. 3. ควรมีเอกสารการสอนปฏิบัติการให้ผู้เข้าร่วมสอน
  4. 4. อาจารย์ผู้ร่วมสอน ควรทบทวนเนื้อหาภาคทฤษฎีหรือเข้าฟังผู้สอนเพื่อให้เข้าใจเนื้อหา หรือผู้สอนอาจส่งเอกสารปรกอบการสอนเพื่อให้อาจารย์ผู้ร่วมสอนได้ทบทวน
  5. 5. กำหนดวันและเวลาล่วงหน้าอย่างชัดเจนเพื่อจะได้มีเวลาในการปรับหรือเพิ่มเติมการสอน

ภาพกิจกรรมการจัดการความรู้

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในสาขาและคณะ เพื่อสร้างและแสวงหาความรู้และการจัดความรู้ให้เป็นระบบ

ภาพแสดงการจัดการความรู้ภายในสาขาระบบประสาท

ภาพแสดงการจัดการความรู้ภายในสาขาระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

ภาพแสดงการจัดการความรู้ภายในสาขาระบบหายใจและไหลเวียนเลือด

ภาพแสดงการจัดการความรู้ภายในคณะ

Comment

Comments

กรุณาทำการ LOG IN เข้าสู่ระบบก่อน ถึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้

ใช้ User ระบบลาออนไลน์ ในการ Login เข้าระบบ.