ประวัติและความเป็นมา

อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดย ฯพณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู

   — ได้ตัดสินใจพัฒนาสถานฝึกผู้ช่วยพยาบาลของโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติอุดมศึกษา พ.ศ. 2522 โดยทำโครงการจัดตั้งเป็นวิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์ เสนอขอรับใบอนุญาตต่อทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สามารถพัฒนาการศึกษาด้านการพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ และ ” ได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งวิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2528 “  นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนลำดับที่ 13 วิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์ ได้ดำเนินภาระกิจ ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง

ภาพพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู (ปี 2534)
ภาพพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู (ปี 2534)

   — ในระยะเวลาต่อมา ปี พ.ศ.2542 เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาและรองรับการเปิดดำเนินการในสาขาวิชาอื่น วิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์จึงได้เปิดดำเนินการคณะศิลปศาตร์ โดยระยะแรกได้ขออนุญาตเปิดสอนหลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาแนะแนว และสาขาวิชา จิตวิทยาองค์กร หลังจากนั้นจึง ได้รับการอนุมัติจากทบวงมหาวิยาลัยให้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยเซนต์หลุยส์  ” เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 “

ภาพการประชุมงานพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู (วันที่ 25 ก.ค. 2536)
ภาพการประชุมงานพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู (วันที่ 25 ก.ค. 2536)

   — ในปี 2546 วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ได้เปิดสอนหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพยาบาลและหลักสูตรระยะสั้น เช่น หลักสูตรการพยาบาลผู้ป่วยโรคไต

พยาบาลรุ่งรวงข้าว ปี 2532
พยาบาลรุ่งรวงข้าว ปี 2532

เกียรติประวัติวิทยาลัย

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวิทยาลัย

  •  5 กันยายน 2528 ได้รับการรับรองหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จากคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ
  •  13 ธันวาคม 2532 รางวัลเกียรติยศด้านสถานประกอบการดีเด่น จาก ฯพณฯ เทียนชัย ศิริสัมพันธ์
  •  27 เมษายน 2533 รางวัลเกียรติยศ ด้านสถานศึกษามาตรฐานชั้นเยี่ยม จาก พลเอก มานะ รัตนโกเศศ
  •  20 มิถุนายน 2540 ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO9002 จาก บริษัท BVQI นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นวิทยาลัยพยาบาลแห่งแรกของโลกที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐานสากล ISO 9002
  •  19 มีนาคม 2541 ได้รับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐาน ISO 14001
  •  13 – 15 สิงหาคม 2546 ผ่านการตรวจประเมินคุณภาพภายนอก โดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน)

  1. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ และประสบการณ์ทางวิชาชีพ มีจิตสำนึกในคุณธรรมจริยธรรม
  2. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อวิชาการ
  3. ให้บริการวิชาการแก่สังคม

  4. ธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของชาติ
  5. โอกาสทางการศึกษาโดยให้ผู้เรียนมีทางเลือกมากขึ้น
  6. พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรทุกสาขาวิชา เพื่อปลูกฝังการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ที่มา​


ในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์มีต้นโมกพิเศษอยู่ต้นหนึ่ง เพราะองค์สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 ได้ทรงปลูกไว้ เมื่อ 11 พฤษภาคม 2527 คราวเมื่อพระองค์เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี 2527 พระองค์ทรงปลูกเพื่อเป็นธรรมบูชา แด่แม่พระ จึงทำให้เกิดอุปมาอุปไมยว่า “โมก คือ เครื่องหมายบูชาความดี”

ต้นโมก


เป็นไม้ท้องถิ่นที่มีความทนทาน เป็นไม้ที่สามารถนำมาตัดและตกแต่งรูปทรงให้มีความงามได้ดังใจ ปรารถนาเป็นไม้ที่มีดอกเล็กๆ สีขาว มีกลิ่นหอมชื่นใจ

ดอกโมก

มีสีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอมเย็นระรื่น มีกลีบเล็กๆ ซ้อนกันหลายชั้น มีลักษณะห้อยลงสู่พื้นดิน “ต้นโมก” และ “ดอกโมก” จึงให้ความหมายที่สำคัญยิ่ง เพราะเปรียบเหมือน ความสะอาดบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจาและใจ

  •  เปรียบเหมือนความดีที่ทุกคนมีเมื่อเกิดมา

  •  เปรียบเหมือนความละเอียดอ่อนของจิตใจ

  •  เปรียบเหมือนความอดทนพากเพียรที่จะเรียนประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต

  •  เปรียบเหมือนความสุภาพอ่อนน้อมและถ่อมตน

  •  เปรียบเหมือนการยินยอมที่จะได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้ดีงาม และดีพร้อมในทุกด้านเพื่อจะได้พัฒนาเป็นบุคคลที่มีอิสรภาพทางใจ

  •  เปรียบเหมือนการแผ่กระจายคุณธรรมแห่งความรักและเมตตากรุณาไปยังผู้อื่นที่อยู่รอบข้าง

ปรัชญา


“เมตตากรุณาอยู่ที่ใด พระเจ้าสถิตที่นั่น”


นโยบาย


วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในสังกัดมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ที่ยึด ปรัชญา “เมตตากรุณาอยู่ที่ใด พระเจ้าสถิตที่นั่น” ดังนั้น วิทยาลัยจึงมีนโยบายจัดการศึกษาตามแบบ ฉบับของพระเยซูคริสตเจ้าในการรักและรับใช้เพื่อนมนุษย์ เพื่อการพัฒนามนุษย์ในทุกมิติด้วยความรู้ ความชำนาญในศาสตร์เฉพาะทางเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นการสร้างสรรค์ ความผาสุกและสันติสุขแก่สังคม


วิสัยทัศน์


วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชั้นนำในการผลิตบัณฑิตที่ปฏิบัติวิชาชีพด้วยความรู้คู่ความดี


พันธกิจ


1. การผลิตบัณฑิต มุ่งผลิตบัณฑิตตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ มีคุณลักษณะของบัณฑิตที่ พึงประสงค์ และสามารถปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพ

2. การวิจัย มุ่งศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้พิการ และใช้องค์ความรู้เพื่อสร้างความผาสุกและสันติสุขแก่สังคม

3. การบริการวิชาการแก่สังคม ใช้ศักยภาพของวิทยาลัยในการให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยบูรณาการกับการเรียนการสอนและการวิจัย

4. การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและศาสนา สร้างความเข้าใจ ชื่นชม สืบสาน ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และภูมิปัญญาไทย รวมทั้งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติอย่างสร้างสรรค์

5. การบริหารจัดการ พัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและหลักธรรมาภิบาล

 

เอกลักษณ์


” วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาคาทอลิก มุ่งมั่นรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยความรัก “

 

อัตลักษณ์


” ความรู้ดี มีความรักและเมตตา เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ “

 

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์


1. ดำรงตนตามคุณธรรม 12 ประการ ศรัทธาต่อวิชาชีพ มีจิตสาธารณะและเป็นพลเมืองดี

2. ใฝ่รู้ตลอดชีวิตในศาสตร์แห่งวิชาชีพและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

3. มีทักษะและพัฒนาความสามารถในวิชาชีพให้ก้าวหน้าอย่างสร้างสรรค์

4. มีภาวะผู้นำเชิงความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในวิชาชีพและสังคม

5. มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในระดับสากลและสื่อสารเชิงวิชาชีพและสังคมได้อย่างน้อย 3 ภาษา

6. มีทักษะในการดำเนินชีวิตด้วยการปรับตัวในสังคมหลากหลายวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

 

คุณธรรม 12 ประการ


วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ตระหนักถึงความสำคัญในการปลูกฝังคุณธรรมที่สำคัญของวิทยาลัย 12 ประการ นักศึกษาผู้ซึ่งมีความพร้อมในคุณธรรมทั้ง 12 ประการนี้ จะส่งผลให้เป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยความเมตตาต่อผู้อื่น มีความ เอื้ออาทรต่อมนุษย์ทุกระดับ และบรรลุถึงเป้าหมายปรัชญาวิทยาลัย ที่ว่า “เมตตากรุณาอยู่ที่ใด พระเจ้าสถิตที่ นั่น” และคำขวัญของวิทยาลัยที่ว่า“ ความรู้ คู่ความดี” คุณธรรม 12 ประการที่นักศึกษาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ต้อง จดจำและปฏิบัติ ได้แก่

1. ความซื่อตรง หมายถึง การมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ผู้อื่น และหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

2. ความรักเพื่อนมนุษย์ หมายถึง การให้ความรักต่อผู้อื่น คริสต์ศาสนาสอนให้มนุษย์รักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง ความรักแสดงออกมาหลายรูปแบบดังเช่น จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินทร์กล่าวไว้ว่า “ ความรักนั้น อดทนนาน ความรักกระทำคุณให้ ความรักไม่อิจฉา ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่จองหอง ความรักไม่คิดเห็นแก่ ตนฝ่ายเดียว ความรักไม่ฉุนเฉียว ความรักไม่ช่างจดจำความผิด ความรักไม่ชื่นชมยินดีเมื่อมีการประพฤติผิด แต่ยินดีเมื่อประพฤติชอบ ความรักทนได้ทุกอย่าง แม้ความผิดของคนอื่นและเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ ความรักมีความหวังอยู่เสมอและอดทนต่อทุกอย่าง ”

3. ความเมตตากรุณา หมายถึง ความรักความเอ็นดู ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข และความสงสารคิดจะช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์

4. ความสละตน หมายถึง การเป็นผู้เสียสละ รู้จักแบ่งปัน อุทิศตนเองด้วยเมตตาจิต บำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป และประเทศชาติ ผลที่ได้รับคือความสุข ความอิ่มเอิบใจแก่ทุกคน

5. ความข่มใจ หมายถึง การบังคับใจตนเองซึ่งจะนำไปสู่ชัยชนะ ให้ประพฤติแต่สี่งที่ดีงาม โดยมิต้องมีศัตรู และ ไม่ทำตามอำเภอใจของตนเองสามารถเอาชนะใจตนเองได้ก็ย่อมชนะปัญหาอุปสรรคอื่นๆได้

6. ความอดทน หมายถึง ความอดทน พากเพียรที่จะเรียนจากประสบการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต

7. ความจริงใจ หมายถึง การแสดงความจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง จะเป็นคนที่น่าคบหาสมาคม และเป็นมิตรแท้

8. ความเพียร หมายถึง ความขยัน มานะ อดทน เป็นลักษณะของจิตที่เลือกเฟ้นทำในสิ่งที่ตนเห็นว่าดี และละเว้น ในสิ่งที่ควรเว้น ความประพฤติดีนั้นต้องอาศัยความตั้งใจ หมั่นพยายามประพฤติแต่สิ่งที่ชอบจนเป็นนิสัยสืบไป

9. ความมีจรรยาวิชาชีพ หมายถึง การประกอบวิชาชีพด้วยความมีสติ ตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็น มนุษย์ ความเสมอภาคตามสิทธิมนุษยชน ละเว้นการปฏิบัติที่มีอคติและการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ ส่วนตัว เก็บรักษาเรื่องส่วนตัวของผู้รับบริการไว้เป็นความลับ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสามารถอย่างเต็มที่

10. ความนอบน้อมสุภาพ หมายถึง ความถ่อมตน ยอมรับความจริงใจในตัวเอง มีกริยาอ่อนโยน สุภาพ ย่อมมีหัวใจ ที่เมตตากรุณา สามารถสร้างความสามัคคีในหมู่คณะได้

11. ความมีวาจาดี หมายถึง การพูดจาไพเราะ อ่อนหวาน พูดแต่ในสิ่งที่ดี พูดในสิ่งที่สร้างสรรค์ ไม่กล่าวร้ายผู้อื่น

12. ความสะอาดกายใจ หมายถึง การรักษาความสะอาดบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ โดยจะต้องได้รับการอบรมสั่งสอน ให้เจริญไปในทางที่ดีงามทุกอย่าง